Business Intelligence หรือ BI คือ เทคโนโลยีที่ช่วยในการสรุปภาพรวมของข้อมูลทางธุรกิจ และใช้เพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้ปฏิบัติงาน (operation staff) ผู้บริหารระดับกลาง (manager level) และผู้บริหารระดับสูง (executive level) โดยจะแสดงผลข้อมูลที่ถูกเชื่อมต่อไว้จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งอาจนำมาจากฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (relational database) จากฐานข้อมูลแบบ NoSQL จากแหล่งจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (big data หรือ data lake) หรือจากบริการข้อมูลบนระบบอินเตอร์เน็ต (web resources)

BI จะมีการนำเสนอข้อมูลและการแสดงผลในหลากหลายมิติ (multidimensional representation) ทั้งนี้ก็เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานในช่วงเวลาที่ต้องการ (time span) หรือตามการคัดกรองซึ่งจัดกลุ่มไว้ดีแล้ว อีกทั้งยังช่วยในวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ การดำเนินกิจกรรมขององค์กรในภาพรวม สามารถใช้เป็นระบบเพื่อสนับสนุนทางเลือกในการตัดสินใจ (decision support system) และการคาดการณ์ต่าง ๆ (forecasting) และยังสามารถจัดการระดับการเข้าถึงข้อมูล (data security level) ของผู้ใช้งานแต่ละระดับ

ในปัจจุบันแพลตฟอร์มและเครื่องมือ business intelligence ถูกพัฒนาให้เพิ่มความสามารถในหลากหลายส่วนด้วยกัน อาทิ การใช้องค์ความรู้ด้าน machine learning หรือ A.I. เข้ามาช่วยการวิเคราะห์ข้อมูล การผสมผสานระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตัดสินใจนำเสนอข้อมูล (augmented intelligence) และยังสามารถจัดการการแจ้งเตือนในกรณีที่ข้อมูลมีความผิดปกติวิสัยตามที่ต้องการ (alert management)

เพื่อให้สามารถประมวลข้อมูลและนำเสนอข้อมูลบน BI ได้รวดเร็วขึ้น ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มยังมีการเพิ่มศักยภาพด้านการวิเคราะห์เชิงลึกในระดับฐานข้อมูล (in-database computation) หรือแม้กระทั่งสามารถพัฒนาโปรแกรมต่อยอดได้โดยสะดวก ซึ่งเหมาะสมสำหรับทุกองค์กรที่มีความต้องการพัฒนา BI ที่มีบริบทเป็นของตนเอง (business-context centric)

 

 

Business Intelligence และ Data Model

การพัฒนา BI แต่ละครั้งจะมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในหลายส่วนด้วยกัน เช่น ทีมงานด้าน data engineering ทำหน้าที่จัดการข้อมูลให้อยู่ในรูปที่นำไปใช้งานได้ จัดเตรียมองค์ประกอบและความสัมพันธ์เพื่อใช้สำหรับการวิเคราะห์ (entity relationship) มีเอกสารรายละเอียดข้อมูลโดยเฉพาะพจนานุกรมข้อมูล (data dictionary) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจ

ทีมงานด้าน BI development ทำหน้าที่จัดสรรเวทีเพื่อการรับฟังความต้องการของหน่วยงานอื่น หรือ ผู้บริหารที่ต้องการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งอาจประกอบด้วยผู้ที่เข้าใจด้านธุรกิจนั้น ๆ และมีความคุ้นชินและเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือ BI อีกทั้งยังสามารถสื่อสารกับทีมงานด้านข้อมูลได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการทำ BI แต่ละครั้งจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลายระดับด้วยกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูล (data governance) และการเตรียมโมเดลข้อมูลที่ใช้สำหรับ BI ซึ่งการเลือกสรรเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนา BI เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในระยะสั้นและระยะยาว

ตัวอย่างการแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลก่อนสร้าง Report ด้วย BI